Communication Through Food
อุษาวดี ศรีทอง อดีตกองบรรณาธิการ FINE ART MAGAZINE และศิลปินผู้สร้างสรรค์งานสื่อผสม ได้เดินทางไปอินเดียเมื่อสามปีที่แล้ว เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ด้านจิตรกรรม ที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี (Visva-Bharati) เมืองศานตินิเกตัน แต่ด้วยกำแพงทางภาษา เธอเลือกสมัครเรียนเพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยก่อนหนึ่งปี ในช่วงที่ทุกอย่างกำลังเริ่มต้น ‘อาหาร’ กลายมาเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงเธอให้เข้ากับผู้คนในดินแดนภารตะ วัฒนธรรมกินข้าวบ้านเพื่อนและการเริ่มต้นหัดทำอาหารไทยและอาหารแขก ได้สร้างบทสนทนาและสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นทั้งกับครู คนในท้องถิ่น เพื่อนต่างชาติ หรือแม้แต่กับกลุ่มคนไทยในอินเดียด้วยกัน
พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เธอต้องเดินทางกลับมายังประเทศไทย ภายหลังการกักตัว อุษาวดีตอบรับคำชวนจากรุ่นน้องที่เคยศึกษาต่อในประเทศอินเดียให้มาร่วมงาน ‘ตลาดนัดกลางนาป่าเมือง’ หนึ่งในกิจกรรมของ Na Café at Bangkok 1899 เริ่มแรกเธอคิดว่าจะทำอาหารอินเดียขาย แต่ด้วยพื้นที่จัดงานคือ บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อได้เห็นอาคารเก่าแก่กว่าร้อยปีและทราบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เธอจึงอยากทำอะไรบางอย่างให้เหมาะกับความพิเศษเฉพาะตัวของพื้นที่ จึงเกิดเป็นไอเดียโปรเจกต์ศิลปะ ‘Communication Through Food’ ซึ่งจัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 10-11 ตุลาคม 2563

อุษาวดีใช้แนวคิดจากประสบการณ์ผ่านมื้ออาหารที่ประเทศอินเดีย โดยนำเอาอาหารเช้าที่เป็นที่นิยมของชาวเบงกาลีอย่าง ‘ปูรีและกุ๊กนี’ (แป้งทอดและแกงถั่ว) มาปรุงสดพร้อมเสิร์ฟให้กับผู้คนที่เข้ามาเดินในงาน ศิลปินจงใจเลือกวัสดุธรรมชาติอย่าง ‘ใบบัว’ มาเป็นภาชนะ ส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลที่เธอเป็นคนปทุมธานี (ปทุม แปลว่า ดอกบัว) ส่วน ‘ดอกกล้วยไม้’ ที่นำมาประดับตกแต่ง นอกจากเรื่ององค์ประกอบของการจัดจาน และการเลือกใช้สีม่วงที่ตัดกันกับสีเขียวของใบบัวและสีเหลืองของอาหารแล้วนั้น ศิลปินยังต้องการให้ดอกกล้วยไม้แทนสัญลักษณ์ ‘การศึกษา’ เนื่องจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีคือหนึ่งในบุคคลสำคัญของการศึกษาไทย เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวะ และยังเป็นหนึ่งในผู้ดำริให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย


Communication Through Food จัดอยู่ที่มุมหนึ่งของตัวบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี บทสนทนาระหว่างศิลปินกับผู้ชมหลากหลายได้เริ่มต้นขึ้นไปพร้อมๆ กับศิลปินที่กำลังนวดแป้ง จัดเตรียมอาหาร ในพื้นที่ยังมีวิดีโออาร์ตที่ฉายอยู่ใกล้กับโต๊ะทำอาหาร เนื้อหาในวิดีโออาร์ตนั้น ศิลปินได้ชวนกัลยาณมิตรของเธอ ทางฝั่งศิลปินไทย ได้แก่ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์, ลำพู กันเสนาะ, ลูกปลิว จันทร์พุดซา แคทลียา พันธ์โตดี และ พลอย นิกะดานนท์ ทางฝั่งอินเดีย ได้แก่ Banatanwi Dasmahapatra, Serrupmir Timungpi, Abhilasha Pandey, Angshita Bhattacharya, Rima Kundu มาร่วมให้คำนิยามถึง ‘อาหาร’ สั้นๆ โดยให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ตั้งกล้องอัดวิดีโอด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ศิลปินยังได้บันทึกวิดีโอคอลระหว่างเธอกับ ‘ดอนน่า’ (Donna Bose) เพื่อนชาวอินเดียที่มาสาธิตวิธีการทำอาหารไว้ในตอนท้ายอีกด้วย


ที่น่าสนใจคือ ศิลปินเลือกบุคคลที่ปรากฎในงานวิดีโอเป็นผู้หญิงทั้งหมดซึ่งมีนัยเชื่อมโยงไปถึงประเด็นที่อุษาวดีสนใจเกี่ยวกับการทำงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินหญิงชาวไทยและอินเดีย คำตอบถึงเรื่องนิยามของอาหารยังสามารถถูกตีความไปได้ถึงทัศนคติของผู้หญิงที่มีต่ออาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่แม่ทำ ผู้หญิงกับการเข้าครัว การส่งต่อความรักจากผู้ทำอาหารสู่ผู้รับประทานอาหาร เหล่านี้ยังเป็นคำถามปลายเปิดที่ชวนให้ผู้ชมได้คิดตรึกตรอง
ชมวิดีโอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะ
Communication through food : The Art Project ชมได้ > คลิกที่นี่
โปรเจกต์ศิลปะในครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตัวศิลปินที่มีต่อประเทศอินเดีย ทั้งยังสร้างบทสนาใหม่ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ชมงานกับศิลปินที่ต่างคนต่างไม่ได้เดินเข้าหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ แต่เดินเข้ามาในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ปรับตัวให้เข้ากับวิถีของชุมชนคนเมือง สร้างบรรยากาศสบายๆ เป็นพื้นที่เปิดกว้าง ต้อนรับคนทุกเพศทุกวัยให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน งานครั้งนี้ได้เปิดประเด็นและมุมมองในการสนทนาเรื่องอื่น นอกเหนือจากศิลปะ อาหารจึงเสมือนเป็นสื่อกลางในการสร้างมิตรไมตรีระหว่างกัน


Communication Through Food อาจดูเหมือนเป็นโปรเจกต์ศิลปะเล็กๆ ที่จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ แต่ไม่แน่ว่าสำหรับศิลปินอาจส่งผลในระยะยาว เพื่อขยายความหมายของการทำงานศิลปะไปยังบริบทอื่นต่อไป
