The 3rd Silent Film Festival in Thailand เทศกาลภาพยนตร์เงียบ ครั้งที่ 3
โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
16 – 22 มิถุนายน 2559 ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า และ โรงภาพยนตร์ลิโด 2
หากมองย้อนกลับไปในยุคเริ่มต้นของภาพยนตร์เมื่อราว 100 ปีก่อน จะพบว่าก่อนที่ภาพยนตร์จะกลายเป็นสื่อชั้นนำที่เข้าถึงกลุ่มผู้ชมทุกเพศทุกวัย ภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่มคือศาสตร์แห่งความยุ่งยากโดยแท้จริง ต้องอาศัยการคิดวางแผนหลายขั้นตอน กว่าจะเป็นผลงานสักหนึ่งเรื่อง จากขีดจำกัดของอุปกรณ์ที่ไม่ได้ล้ำเลิศ หรือความสมบูรณ์ของชิ้นงานอะไรนัก ความไม่คมชัดของภาพ การตัดต่อ หรือแม้กระทั่งระบบการบันทึกเสียงที่ยังไม่ถูกคิดค้น เป็นต้น มันคือยุคของ ‘ภาพยนตร์เงียบ’ ซึ่งการจะได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เงียบ ต้องเป็นผู้มีฐานะพอสมควร เพราะเข้าฉายจำกัดในโรงละครชั้นนำขนาดใหญ่ พร้อมมีวงดนตรีออเคสตราบรรเลงประกอบทั้งเรื่อง อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เงียบก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จากความแปลกใหม่สุดตื่นตา จนมีภาพยนตร์เงียบชั้นดีเกิดขึ้นมากมาย กระทั่งการถือกำเนิดของเครื่องบันทึกเสียง ภาพยนตร์เงียบจึงถูกลดตัวตนอยู่เหลือเพียงแค่ความบันเทิงในอดีต
หลับใหลมานาน 94 ปี ‘Nosferatu’ หรือชื่อเต็ม ‘Nosferatu: A Symphony of Horror (1922)’ ภาพยนตร์เยอรมัน อิมเพรสชั่นนิสชื่อดังของ F.W. Murnau ได้กลับมาสร้างความสยองขวัญบนจอเงินอีกครั้ง พร้อมการแสดงดนตรีประกอบสดจากนักดนตรีชื่อดังในวงการภาพยนตร์เงียบโลก Günter A. Buchwald มาบรรเลงเปียโนกับไวโอลิน ร่วมด้วย อาจารย์อานันท์ นาคคง นักดนตรีไทยมากความสามารถ และ Tama Karena ครูสอนดนตรีระดับนานาชาติที่มาร่วมเป็นแขกรับเชิญในวันเปิด ‘เทศกาลภาพยนตร์เงียบครั้งที่ 3 (The 3rd Silent Film Festival in Thailand)’ วันที่ 16 มิถุนายน 2559 ณ โรงภาพยนต์สกาล่า ที่จัดขึ้นหลังได้รับความนิยมอันดีจากผู้ชมสองครั้งที่แล้ว โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งกระแสตอบรับของการฉาย Nosferatu เพียงรอบเดียวในประเทศไทยครั้งนี้ มีความน่ากลัวและติดตาไม่แพ้รอบที่เข้าฉายเมื่อปี 1922 เลย
“Ghostly dreams will rise from your heart and feed your Blood.”
ประโยคชวนขนลุก คลอกับเสียงเปียโนอันหนักหน่วง ในช่วงเปิดเรื่องจาก Nosferatu ที่พาผู้ชมดิ่งลึกลงสู่เรื่องราวชีวิตที่ผันแปรของ Thomas Hutter นายหน้าที่ดินใน Wisborg ที่มีชีวิตแสนผาสุขกับภรรยา Ellen วันหนึ่งเขาได้มีโอกาสไปทำงานที่ Transylvania เพื่อต่อรองซื้อที่ดินกับ Baron Orlok เจ้าปราสาทผู้เป็นขุนนางเก่า Hutter ต้องคอยพักอยู่ที่ปราสาทนั้นระหว่างรอ Orlok เซ็นสัญญา แต่ Hutter ได้ค้นพบความลับบางอย่างว่า ตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อของ Orlok ที่เป็นผีดูดเลือดมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน Orlok มีแผนที่จะเดินทางเข้าเมืองเพื่อนำความตายไปสู่มวลมนุษย์ ทั้งหมดนี้ ดัดแปลงจากนวนิยายจากประเทศอังกฤษ นักเขียน Bram Stoker ในชื่อ ‘Dracula’ ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด ต่างกันแค่ ชื่อตัวละคร สถานที่ และรายละเอียดแบบจุดเป็นภาษาเยอรมัน ต่อมา เกิดคดีการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ และแพ้คดีไป ทั้งที่ Murnau ผู้กำกับภาพยนตร์ รู้ว่ายังไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำ ผลคือศาลสั่งให้นำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ทำลายทิ้ง แต่ก็ยังมีสำเนาผี รอดมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม Nosferatu ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก ในส่วนของการกำกับ การถ่ายทำ และการเมคอัพ ที่เนรมิต Max Scheck นักแสดงผู้รับบท Orlok ออกมาซะเหมือนผีดิบจริงๆ ติดตาผู้ชมตั้งแต่ออกฉายจนถึงวันนี้ สิ่งอื่นนอกจากความโดดเด่นด้านต่างๆของโปรดักชั่นแล้ว Nosferatu เป็นภาพยนตร์ที่มีผีดูดเลือด ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม ก่อนเรื่อง ‘Dracula (1931)’ เวอร์ชั่น Tod Browning ที่อ้างอิงจากนวนิยายของ Bram Stoker แบบถูกลิขสิทธิ์เสียอีก ซึ่งนักแสดงผู้รับบท Count Dracula อย่าง Bela Lugosi ก็ได้รับคำยกย่องด้านการแสดง ถึงความน่ากลัวไม่แพ้ Max Scheck เจ้าของบทบาทผีดูดเลือดเวอร์ชั่นเยอรมันเลย
นอกจาก Nosferatu: A Symphony of Horror (1922) แล้ว ยังมีภาพยนตร์เงียบชั้นยอดมากมายที่ถูกคัดเลือกมาฉายในเทศกาล หากพลาดภาพยนตร์เปิดเทศกาล ดังนี้
‘Go West (USA, 1925)’ ฉลองครบรอบการจากไปของนักแสดงตลกชื่อดัง Buster Keaton หรือฉายา “ไอ้หน้าตาย” ปีที่ 50 ในปีที่ ค.ศ. 1966 เขารับบทเป็นชายหนุ่มไร้เพื่อน ตกงาน ที่ได้งานใหม่ในฟาร์มแห่งหนึ่งจนเจอเรื่องวุ่นๆ มากมาย เพราะเขาไม่รู้เรื่องการทำฟาร์มอะไรสักอย่าง
‘Hamlet (USA, 1921)’ หนึ่งในบทประพันธ์อันเลื่องชื่อของ Shakespeare เรื่องราวโศกนาฏกรรมของการล้างแก้นลุงและกษัตริย์คลอดิอัสของเจ้าชายแฮมเลต เนื่องจากลุงของเขาเป็นผู้ลอบสังหารบิดาและมารดาเพื่อหวังชิงบังลังก์นั่นเอง
‘Two Timid Souls (France, 1928)’ ผลงานชิ้นสุดท้ายของผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศส Rene Clair ที่นำเสนอเรื่องทนายขี้อาย ถูกลูกความที่เคยว่าความให้ แก้แค้นด้วยการขโมยความรักไป ด้วยการข่มขู่ต่างๆนานา อีกทั้งทนายหนุ่มต้องเผชิญกับว่าที่พ่อตาแสนขี้ขลาดที่ถูกข่มขู่โดยลูกความของเขาเช่นกัน
‘The Swallow and the Titmouse (France, 1920)’ ผลงานที่สูญหายของ André Antoine ที่ไม่ได้ออกฉายในปีที่สร้าง และถูกเก็บตายไว้กว่า 63 ปีก่อนนักตัดต่อคนหนึ่งพบเข้าแล้วมาตัดใหม่ตามสคริปต์ต้นฉบับจาก 6 ชั่วโมง เหลือ 79 นาที เรื่องเกิดขึ้นบนเรือลำหนึ่งที่บรรทุกถ่านหินและอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆไปยังพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 1
‘Shooting Stars (UK, 1928)’ เรื่องชู้สาวในกองถ่ายภาพยนตร์ ที่แฝงความระทึกขวัญด้วยเนื้อเรื่องหักมุมแบบ Hitchcock แฝงไปด้วยความท้าทายทางศีลธรรมของผู้ชม ฝีมือการกำกับเรื่องแรก Anthony Asquith ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียง
‘The Last Laugh (Germany, 1924)’ อีกหนึ่งผลงานของ F.W. Murnau ที่โด่งดังไม่แพ้กัน เรื่องของชายชราเฝ้าประตูโรงแรมหรู ที่ถูกปลดไปเป็นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องน้ำ เขารู้สึกอับอายมากและพยายามกอบกู้เกียรติที่เขาภูมิใจกลับมา
‘Varieté (Germany, 1925)’ ความรักซับซ้อนในคณะละครเร่ ความสัมพันธ์ที่โยงกันเป็นใยแมงมุม พร้อมมีฉากการแสดงผาดโผนที่น่าตื่นตาตื่นใจผสมกับเนื้อหาที่เข้มข้น
‘Sunrise (USA, 1927)’ ผลงานสุดน่าทึ่งอีกชิ้นของ F.W. Murnua เกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่หลงใหลหญิงสาวในเมืองอย่างงมงาย จนฆ่าภรรยาที่แสนดีของตัวเองทิ้งซะอย่างงั้น ความโศกเศร้าของเขานำไปสู่การให้อภัยและความสุข
เทศกาลภาพยนตร์เงียบครั้งที่ 3 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 22 มิถุนายน ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า (เฉพาะเรื่อง Nosferatu ในวันที่ 16 มิถุนายน บัตรราคา 200 บาท) และ โรงภาพยนตร์ลิโด 2 (บัตรราคา 120 ทุกที่นั่ง) โปรดอย่าพลาดที่จะลองชมภาพยนตร์เงียบในโรงภาพยนตร์แบบดั้งเดิมสักครั้ง แล้วโลกภาพยนตร์ที่คุณคิดว่ารู้จักมันดี ยังมีอีกหลายๆ แง่มุม ที่คุณยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน
ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องต่างๆ นักดนตรี และตารางฉายได้ที่:
Official fan page: https://www.facebook.com/silentfilmthailand/
เว็ปไซต์หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน): http://www.fapot.org