‘The Uncertain’ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
ในความอึมครึมท่ามกลางบรรยากาศแสงสลัว ก่อนถึงห้องโถงหลัก ผลงานชิ้นหนึ่ง ถูกแขวนอยู่กึ่งกลางผนังด้านขวา พร้อมกับเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่เหนือศีรษะ หากมองผ่านๆ ก็คงไม่มีใครสังเกตเห็นว่ามันคือผลงานอีกชิ้นหนึ่ง เพราะมันคือผืนผ้าใบที่ไม่ปรากฏร่องรอยของหยดสีใดๆ มีเพียงแสงธรรมชาติจากด้านนอกอาคารที่สาดกระทบลงบนผืนผ้าใบนั้น สีที่ปรากฏบนผ้าใบจึงเป็นสีที่สะท้อนจากแหล่งกำเนิดที่มาจากภายนอกอาคาร อย่างไรก็ตามแสงที่ว่าก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นแสงธรรมชาติได้อย่างสนิทใจ เพราะแสงจากภายนอกไม่ได้ส่องกระทบกับผ้าใบโดยตรง หากแต่ทะลุผ่านประตูกระจกบานเลื่อนแล้วจึงกระทบกับผ้าใบอีกทีหนึ่ง ผลงานชิ้นที่ว่าจึงเกิดจากการกระทำของปรากฏการณ์ธรรมชาติ กับสถาปัตยกรรมภายในอาคาร ที่มนุษย์เป็นผู้ก่ออย่างไม่จงใจ หากผู้ชมหยุดยืนพิจารณาชิ้นงานตามระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้ เซ็นเซอร์ด้านบนก็จะทำงานไปตามกลไก ปรากฏเป็นเสียงร้องของนกก้องสะท้อนกังวาลอย่างไพเราะ แต่หากผู้ชมไม่ได้ใช้เวลาใคร่ครวญมากนัก ผู้ชมก็จะไม่ได้ยินเสียงบันทึกของธรรมชาตินั้น การตั้งกฏกติกากับการรอคอย และระยะเวลาของธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของศิลปินที่ต้องการให้ผู้ชมเห็นคุณค่าของการรอคอยในบางสิ่ง จากบางส่วนที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมได้

เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ศิลปินไทย ผู้สนใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เขามักนำเสนอผลงานที่ใช้สื่อหลากหลายแขนง มาแสดงในรูปแบบผลงานจัดวาง (Installation art) และผลงานจัดวางเฉพาะพื้นที่ (site-specific installation art) โดยงานของเขามักวิพากษ์ไปยังสังคม การเมือง สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมในปัจจุบันผ่านการรับรู้จากประสบการณ์ส่วนตัว เช่น นิทรรศการ Elipse (อาทิตย์ดับ), 2017-2018 Traverse (ผ่าน), 2015 Clutch (รั้ง), 2015 Shatter (สลาย), 2014 Downfall (ล้มทั้งยืน), 2013 ฯลฯ ขณะที่นิทรรศการครั้งนี้ เจษฎา พยายามจำลองสภาพอากาศจากพื้นที่ภายนอกอาคาร มาไว้ในห้องปิด เพื่อสื่อสารถึงการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นระหว่างการรอคอยสภาพลม ฟ้า อากาศ เพื่อบันทึกเสียงของสิ่งมีชีวิต ขณะสร้างสรรค์ผลงาน ‘Twiilight / มุ้งมิ้ง’ ในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 การเผชิญหน้ากับธรรมชาติโดยตรงและการอดทนต่อธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามโดยตรงกับศิลปินที่ว่า “มนุษย์เราควรดำเนินการควบคุมหรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ?” จากความสงสัยใคร่รู้ทำให้ตัวนิทรรศการครั้งนี่มีการจัดแสดงในเชิงทดลอง พร้อมกับออกแบบผลงาน ด้วยการควบคุมแสงสว่าง และความมืดภายในอาคาร ให้เป็นไปตามสภาพอากาศจริง ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน 4 รูปแบบ คือ สภาพอากาศแบบแดดออกมาก มีเมฆน้อย มีเมฆมาก และฝนตก นอกจากปัจจัยหลักของสภาพอากาศที่มีผลต่อการเยี่ยมชมงานแล้ว ระยะเวลาการจัดแสดงนิทรรศการยังมีผลต่อความสูงของตัวประติมากรรมที่จัดแสดงภายในห้องโถงด้านล่าง 4 ชิ้นซึ่งใช้แนวคิดเดียวกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ และปัจจัยสุดท้ายคือ ลักษณะการชมงานของผู้ชม เช่น การใช้ตัวเซ็นเซอร์จับระยะเวลาในการเยี่ยมชมงาน ความเร็ว-ช้าในการเข้าชม โดยปัจจัยยเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อการเยี่ยมชมนิทรรศการในแต่ละวันซึ่งทำให้เกิดการรับประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำกัน จากปัจจัยที่กล่าวมานี้ยังแสดงให้เห็นว่าศิลปินต้องการละทิ้งการควบคุมออกไป เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติ ผู้ชม และเวลา เป็นผู้กำหนดตัวนิทรรศการแทน
เสียงสะท้อนจาก ‘ความคลุมเครือและความคลาดเคลื่อน’


ภายในห้องโถง แสงสีส้มและเงาที่ตกกระทบจากประติมากรรมที่วางอยู่บนพื้นห้อง ทั้ง 4 ชิ้น คือ ‘Open-ended’ (เอนอ่อน ผ่อนตาม), 2019 ‘Horn and Branch’ (เป็นเขาก่อนเป็นกิ่ง), 2019 ‘The Tree Inside’ (ลำต้นของแต่ละต้น), 2019 และ ‘100 Year Layers’ (ริ้วรอยศตวรรษ), 2019 ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่แตกต่างกันจำนวนหลายชิ้น เรียงต่อกันในแนวตั้ง ในทุกๆ วัน เมื่อสภาพอากาศที่มีแสงแดดและอากาศเหมาะสม จะส่งผลให้ตัวประติมากรรมเหล่านี้ถูกต่อเติมขึ้นทีละชั้นๆ เมื่อเวลาผ่านพ้นไปความสูงของประติมากรรมจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ในโลกจริง ด้วยแนวคิดนี้จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้ชมจะพบว่าผลงานแต่ละชิ้นนั้นมีความสูงไม่เท่ากัน (เติบโตไม่เท่ากัน) สำหรับแนวคิดของผลงานทั้ง 4 ชิ้นนี้ เจษฎาเปิดเผยกับเราว่า แรกสุดอยากนำเสนอให้ผลงานออกมาในรูปแบบเดียวกับตุ๊กตาแม่ลูกดก (Russian Doll) โดยทำตัวประติมากรรมซ้อนกันหลายๆ ชั้น แต่ท้ายที่สุด เจษฎาก็ได้แนวคิดใหม่มาจากลำต้นที่เป็นข้อปล้องของต้นตาล ผลงานชุดนี้จึงเกิดขึ้นจากการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งสัมพันธ์กับการจำลองสภาพอากาศภายในห้องจัดแสดงที่ต้องอาศัย แสงแดดและเวลาในการหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เติบโต ในขณะที่ห้องกระจกเงาปิดทึบ คือ ตัวแทนของกรงนกขนาดใหญ่ที่ผู้ชมสามารถชมได้เฉพาะสภาพอากาศแบบแดดออก และมีเมฆเป็นบางส่วนเท่านั้น โดยผลงานในบริเวณนี้มีทั้งหมด 6 ชิ้น ในชื่อที่คล้ายคลึงกันคือ Calling, Singing, Screaming, Crying (กู่ร้อง ขับร้อง ตะโกนร้อง ร่ำร้อง), 2019 พร้อมกับระบุชื่อนกที่แตกต่างกัน ได้แก่ นกกาเหว่า นกเค้าแมว นกกระปูด นกหงส์หยก นกกก และนกมาคอว์สีฟ้าทอง การแสดงงานในพื้นที่นี้นอกจากจะมีจุดเด่นจากปัจจัยสภาพอากาศแล้ว ผลงานที่จัดแสดงยังต้องอาศัยตัวผู้ชมเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงานอีกด้วย ในขณะที่เสียงของนกที่ถูกบันทึกในพื้นที่ต่างกัน และแผ่นโลหะขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าในห้องนก ยังสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตในที่ๆ พวกมันจากมา เช่น เสียงร้องของนกที่อยู่ในกรง สวนสัตว์ หรือในพื้นที่ธรรมชาติ ส่วนอักษรพิเศษที่ปรากฏบนแผ่นโลหะคือการบันทึกความถี่และระยะเวลาที่ใช้บันทึกเสียง บนชั้นสองยังปรากฏผลงาน Wave (คลื่น), 2019 ที่ใช้แสงไฟสปอร์ตไลท์ ฉายลงไปบนผนังเพื่อจำลองการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในสภาพอากาศ แดดออกมาก และมีเมฆบางส่วน นอกจากผลงานจัดวางแล้ว เจษฎายังมีการแสดงสด ร่วมกับ มาร์กาเร็ต วู และ อรวรรณ อรุณรักษ์ ในชื่อ ‘Both Sides: Planing and Spontaneous’ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับ ‘การควบคุมและการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ’ ทั้งยังสอดแทรกแนวคิด วิธีการทำงาน และมุมมองของเจษฎาที่ส่งผลการพัฒนาให้เป็นผลงานในชุดนี้ด้วย


โอนอ่อนผ่อนตาม
การใช้สภาพแวดล้อมมาเป็นตัวกำหนดทิศทางของรูปแบบการจัดแสดงงานศิลปะ ถือเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งของงานศิลปะแบบจัดวาง ซึ่งเรียกร้องให้ผู้ชมเปิดประสาทสัมผัสต่างๆ มากกว่าการเยี่ยมชมงานศิลปะประเภทอื่นๆ เมื่อผู้ชมเข้ามาสู่ตัวพื้นที่แสดงงาน ผู้ชมจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในห้องจัดแสดง พร้อมกับละการควบคุมของผู้ชมให้เหลือเพียงกึ่งหนึ่ง และกลายเป็นผู้ยอมจำนนต่อสภาพแวดล้อมที่เข้าไปอยู่นั้น พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นเสมือนห้องทดลองของศิลปินที่สร้างสภาวการณ์ต่างๆ ให้เกิดกับผู้ชมได้ ในขณะที่เงื่อนไขของนิทรรศการที่ผู้ชมไม่สามารถเข้าชมได้ภายในครั้งเดียว ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายและชวนให้ผู้ชมเข้ามาสัมผัสช่วงเวลาของธรรมชาติมากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศและประติมากรรมในพื้นที่จัดแสดง จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ ที่ไม่คงที่ในแต่ละวัน เช่น บางวันอาจร้อน เพราะแดดออกมาก หรือ บางวันอาจมืดครึ้ม เพราะมีเมฆเป็นส่วนใหญ่ ผู้เข้าชมจึงต้องอาศัยการประเมินสภาพอากาศตามเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหลายๆ ครั้ง ก็อาจไม่ตรงกับสภาพอากาศจริงสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่าง ‘คน และธรรมชาติ’ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ความตลกปนเศร้าอย่างหนึ่งของนิทรรศการนี้ คือปรากฏการณ์ฝนตกที่ไม่เคยเกิดขึ้นตลอดระยะการจัดแสดงนิทรรศการเลย ทำให้ผลงานภาพถ่ายนกที่อยู่หน้าทางเข้าไม่ได้รับการเปิดเผยออกมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เหมาะต่อการบันทึกเสียงสัตว์ต่างๆ ได้ดีที่สุด การเล่นกับฤดูกาล สภาพอากาศ และความอดทนของผู้ชม จึงเป็นส่วนผสมลงตัวที่ทำให้ นิทรรศการชุดนี้แตกต่างไปจากการเยี่ยมชมผลงานจัดวางที่ศิลปินเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด The Uncertain (ในความคลุมเครือและความคลาดเคลื่อน) จึงเป็นสภาวะการโอนอ่อนผ่อนตามต่อธรรมชาติ ที่เปิดประสบการณ์ให้มนุษย์ละทิ้งการควบคุมของตัวเองออกไป ในพื้นฐานความคิดที่ว่า “มนุษย์ไม่สามารถกำหนดและควบคุมทุกอย่างได้” ด้วยเหตุนี้ ในบางครั้งเราจึงอาจต้องปล่อยเหตุการณ์ให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงการยอมจำนนต่อโชคชะตา แต่มันคือความพยายามในการต่อรองกับตัวเอง ในพื้นที่กึ่งกลางระหว่างความเป็นเอกเทศทางความคิดและเอกภาพของการดำรงอยู่ เพื่อผ่อนปลนกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และหันมายืนหยัดในสิ่งที่สามารถทำได้แทน



“ผมใช้คอนเซ็ปต์ของธรรมชาติ เพราะว่าในธรรมชาติเราต้องเป็นคนเฝ้ามอง เหมือนกับเรารอคอย ตั้งแต่การเติบโตของต้นไม้ เสียงสัตว์ หรือสภาพอากาศว่าฝนจะมาเมื่อไหร่ แดดจะออกหรืออะไร เราอยู่ภายใต้ธรรมชาติ แต่พอกลับมาในเมือง เราคิดต่างกัน เหมือนตอนนี้ข้างนอกร้อนข้างในก็มีเครื่องปรับอากาศ ข้างนอกมืดเราก็สามารถเปิดไฟ ข้างนอกมีเสียงเราก็สามารถใส่หูฟัง ฉะนั้นเราก็จะชินกับการที่เราสามารถควบคุมหลายๆ อย่าง… ผมรู้สึกเหมือนกับเราจะไม่ค่อยปรับตัวตามธรรมชาติ แต่เราจะพยายามปรับธรรมชาติ สิ่งที่เราอยู่ให้มันสะดวกกับเรา” – เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์
The Uncertain / ในความคลุมเครือและความคลาดเคลื่อน
เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์
Nova Contemporary
February 1 – March 31, 2019