Undressed to Dress up
ทุกภาพในนิทรรศการ Undressed to Dress up เขียนขึ้นด้วยสีกวอช (Gouache) ผสมกับเทคนิคการวาดหมึกบนกระดาษสีน้ำมัน (Indian Ink on water color paper) จัดแสดงทั้งหมด 25 ภาพ ติดบนกำแพงสีขาวรอบห้อง

สำหรับผู้เขียนเวลาเดินดูผลงานศิลปะ สิ่งที่จะสนใจรองลงมาจากชิ้นงานคือ ‘ชื่อผลงาน’ ซึ่งเป็นเหมือนคำใบ้ให้ตีความ แต่ปรากฎว่าในผลงานชุดนี้ศิลปินจงใจตั้งชื่อด้วยชื่อแบรนด์ เช่น Mara Hoffmann, Gucci, Tory Bunch, Erdem และ Alexander McQueen เหตุผลหนึ่งคือการมอบเครดิตให้กับแบรนด์ชั้นนำที่เธอหยิบยืมรูปแบบและลวดลายมาใช้ในผลงาน และเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่าเธอเป็น Designer ที่สร้างชุดเหล่านี้ขึ้นมาเอง
จุดเด่นของ Undress to Dress up
คือความไม่ซ้ำซากจำเจของการจับคู่สีและการวางลายผ้าตามท่าทางของตัวแบบ ปะปนไปด้วยความสนุกนานของสีสัน ลวดลายที่ดูเยอะที่อาจจะเยอะเกินไปหากแต่ลงตัว ทุกภาพมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่อาจคลาดสายตาได้ เช่นสรีระ ‘บ่ากว้าง’ ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์เด่นของเปี่ยมรัก ที่ไม่ว่าใครเห็นก็จดจำได้ว่าเป็นงานของเธอ

Gouache, Indian Ink on watercolor paper, 23.5 x 26.5 cm.
หากเปรียบเทียบกับงานแสดงชุดก่อนของเปี่ยมรักอย่าง Wandering mind ในปี 2019 จะเห็นชัดว่าผลงานชุดนี้ศิลปินตัดทอนรายละเอียดชวนฝันต่างๆ จนเหลือเพียงแก่นสำคัญอันได้แก่ สีผิวของตัวแบบ เสื้อผ้า ฉากหลัง ทั้งนี้ เปี่ยมรักยังให้ความสำคัญกับการใช้สี การวาดสัดส่วน สรีระ (figure drawing) องค์ประกอบภาพ (composition) และการวางท่าทาง (posture) ชวนให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการนิยาม ‘ความงาม’ ในโลกแฟชั่น พร้อมกับเปิดมุมมองความหลากหลายทางเพศ เพราะเธอไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าทุกรูปคือผู้หญิง? ตัวแบบอาจเป็นผู้ชาย แล้วแต่จะตีความ

Feeling Festive เป็นผลงานที่ศิลปินเลือกมาเป็นภาพโปรโมต ภาพดังกล่าวชวนนึกสงสัยว่า ตัวแบบในภาพกำลังจะแต่งตัวไปไหน งานเลี้ยง? สังสรรค์? หรือแค่นัดพบเพื่อน ตัวแบบกำลังคิดอะไรอยู่ เสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่งอื่นๆ บ่งชี้เบาะแสบางอย่างได้หรือไม่?
การชมงานครั้งนี้เหมือนเราได้เล่นสนุกไปกับการคาดเดาเหตุการณ์ต่างๆ นานา แม้ผลงานในครั้งนี้จะดูเรียบง่ายมาก แต่ศิลปินได้ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผลงานที่ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัวสูง เหมือนจะไม่มีอะไร แต่จริงๆ มันเกี่ยวข้องกับเรื่อง Value หรือคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ สำหรับเปี่ยมรักนั่นคือ “การทำในสิ่งที่เราชอบ และสิ่งนั้นช่วยให้เราได้ express ตัวเราเอง และคนอื่นก็อาจได้ประโยชน์จากสิ่งที่เรารักที่จะทำ”

ปิ๊ง – เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล เป็นนักวาดภาพประกอบสัญชาติไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในมหานครนิวยอร์ก คนส่วนใหญ่รู้จักเธอจากแพลตฟอร์มออนไลน์ Instagram @pinghatta เปี่ยมรักจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านแฟชั่นดีไซน์จาก Pratt Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นเธอกลับมาที่ประเทศไทยและทำงาน full-time เป็นนักออกแบบชุดชั้นในให้กับแบรนด์ดังของฝรั่งเศส ก่อนที่จะตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Design management ในสถาบันเดียวกัน จากนั้นเปี่ยมรักก็ทำงานไปมาระหว่างไทยและนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน กระทั่งเกิดวิกฤติสถานการณ์ไวรัสระบาด
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นและชื่นชมผลงานของเธอที่ทำร่วมกับแบรนด์แฟชั่นหรือโปรเจกต์ส่วนตัวได้ทางเว็บไซต์ https://www.pinghatta.com/ ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มของนิทรรศการ UNDRESSED TO DRESS UP ได้ใน FINE ART BOOKAZINE พบกันที่ร้านหนังสือ เร็วๆ นี้

นิทรรศการ Undressed to Dress up
โดย เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล / @Pinghatta
6 – 30 พฤศิกายน 2563 l River City Bangkok